วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การจัดการโลจิสติกส์เชิงโซ่อุปทานและการบริหารสินค้าคงคลัง


ภายใต้สถานการณ์ด้านต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ พลังงาน วัตถุดิบ ทำให้สภาพแวดล้อมของการผลิตสินค้าในภาคอุตสาหกรรม เป็นดั่ง แรงกดดันให้ผู้ผลิตต่างตื่นตัวเตรียมพร้อมรับมือด้วยการกำหนดกลยุทธ์ต่างๆ อันมีผลตั้งแต่ช่วยให้แข่งขันได้ ครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดเหนือคู่แข่ง สร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่กว่าคู่แข่ง หรือแม้แต่เพื่อพยุงสถานะของตนเองให้อยู่รอด
โดยทั่วไปแล้ว ขั้นตอนในการผลิตสินค้าและบริการ เริ่มต้นจากการออกแบบสินค้า (Product Design) เลือก และรับวัตถุดิบ (Raw Material) เข้ามาแปรรูปให้เป็นสินค้า (Manufacturer) ก่อนที่จะกระจายสินค้า (Distribute) ไปยังศูนย์กระจายสินค้า หรือตัวแทนจำหน่าย เพื่อไปยังผู้บริโภคในที่สุด สายการผลิตดังกล่าวคือ โซ่คุณค่า หรือ Value Chain จากโซ่คุณค่าของการผลิตใดๆ ก็ตาม จะเห็นว่าแต่ละขั้นตอนจำเป็นต้องมีการประสานกันระหว่างหน่วยธุรกิจ มีข้อมูลที่เชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง ห่วงโซ่คุณค่าจึงเกี่ยวข้อง กับกระบวนการจัดซื้อจัดหา (Procurement) การผลิต (Manufacture) การจัดส่งสินค้า (Transportation) เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ผู้บริโภค หรือลูกค้า (Customer) กระบวนการทั้งหมดนี้คือ โซ่อุปทาน (Supply Chain)
ในทุกๆ การผลิตจึงมีโซ่อุปทานเป็นส่วนสำคัญ การจัดการโซ่อุปทานด้วยแนวทางที่ถูกต้องสามารถ ลดต้นทุนการผลิต อันเป็นปัจจัยเอื้อให้แข่งขันได้ ในทางตรงกันข้าม การผลิตด้วยต้นทุน ที่สูงเป็นสภาพไม่พึงประสงค์ ผู้ผลิตต่างไม่ต้องการให้สภาวะดังกล่าวเกิดขึ้น เพราะนอกจากไม่เอื้อต่อการแข่งขันแล้ว ยังสร้างภาระให้ตกอยู่กับผู้ผลิตโดยตรง

โซ่อุปทานเกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์อย่างไร
ดร.กฤษฎ์ ฉันทจิรพร หัวหน้าทีมที่ปรึกษา โครงการการจัดการโซ่อุปทานใน SMEs กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้จัดการทั่วไปสายอุตสาหกรรมเกษตร บริษัท มาลีสามพราน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวคิดเรื่องการจัดการโซ่อุปทานพัฒนาขึ้นมายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว โดยเกิดขึ้นในบริษัทขนาดใหญ่ในอเมริกา ยุโรป ฮ่องกง เป็นลำดับแรกๆ เพราะผู้บริหารองค์กรได้ตระหนักว่าการเน้นจุดสนใจจากลูกค้าโดยปรับกระบวนการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ ยังจะต้องประสานร่วมกันภายในระหว่างหน่วยต่างๆ ด้วย เพื่อโอกาสสูงสุดในการพัฒนาการให้บริการ และลดค่าใช้จ่ายรวมของทั้งองค์กรของผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ แต่ต้องประสานร่วมกันภายในระหว่างหน่วยต่างๆ เพื่อโอกาสสูงสุดในการพัฒนาการให้บริการและลดค่าใช้จ่ายรวมของทั้งองค์กร
“เรื่องของโซ่อุปทาน แรกเริ่มเป็นที่เข้าใจกันว่าเป็นการ ส่งมอบ ตั้งแต่ต้นถึงปลายสาย แต่แนวคิดนี้ค่อนข้างโบราณไปแล้ว เพราะมองจำกัดอยู่แค่การส่งมอบ การปรับปรุงในการส่งมอบ ได้ปรับไปจนไม่มีอะไรให้ปรับอีก เมื่อวิทยาการจัดการได้เกิดขึ้น มีผลการศึกษาออกมาเรื่อยๆ ก็มีผู้เห็นโอกาสในการบริหาร กระบวนการการเชื่อมโยงต่อเนื่องเข้ากับส่วนต่างๆที่อยู่ภายนอก เชื่อมโยงกับลูกค้า เชื่อมโยงกับซัพพลายเออร์ กับผู้ขนส่ง เพิ่มโอกาสมากมายที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความรวดเร็ว ในการส่งมอบสินค้า ผู้ผลิตต้องมองออกไปให้ไกลกว่าเดิม นำ โลจิสติกส์เข้ามาใช้ในโซ่อุปทาน เรียกว่า การจัดการโลจิสติกส์ ในเชิงโซ่อุปทาน”
โซ่อุปทานเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลยุทธ์ทางธุรกิจ การ ร่วมมือกันอย่างเป็นพันธมิตร สร้างความเป็นหุ้นส่วนทางการค้า ในโซ่อุปทานร่วมกัน กำหนดพันธกิจในการทำงานร่วมกันอย่าง ใกล้ชิดเพื่อสร้างคุณค่าแก่ลูกค้าให้เพิ่มขึ้นในที่สุด ด้วยต้นทุนและเวลาต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ การจัดการโซ่อุปทานเป็นเรื่อง ของระบบโดยรวมตั้งแต่เริ่มไปจนถึงสิ้นสุดการผลิต ตั้งต้นจาก แหล่งของวัตถุดิบ (Supplier) ป้อนเข้ากระบวนการผลิตเป็นสินค้า ผ่านระบบกระจายสินค้าไปจนถึงผู้ใช้ ผู้ผลิตต้องวางแผนการ ควบคุมการผลิต จนกระทั่ง Distribution ไปถึงลูกค้า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การบริหารการไหลเวียนของสินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ และการไหลเวียนนั้นคือ โลจิสติกส์นั่นเอง
การจัดการโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) เป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการวางแผน การปฏิบัติการ การติดตาม และประเมินผลของกิจกรรมในโซ่อุปทาน โดยมีวัตถุประสงค์ ในการสร้างคุณค่าในทุกขั้นตอนการผลิต ปรับอุปทานให้สอดคล้องกับอุปสงค์ ยกระดับงานให้เป็นสากล อาทิ ISO และ GMP ฯลฯ ซึ่งการจัดการโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพจะมีผลให้เกิดการ ไหลเวียนของ สิ่งสำคัญสามสิ่งในการผลิต ได้แก่ การไหลเวียนของสินค้าและบริการ (Physical Flow) การไหลเวียนของข้อมูลสารสนเทศ (Information Flow) และการไหลเวียนของเงินทุน (Fund Flow) อย่างมีประสิทธิภาพ
ในขณะที่ การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของโซ่อุปทานประกอบด้วยการวางแผน การดำเนินการ การควบคุมการไหลเวียน การจัดเก็บ สินค้า การบริการและสารสนเทศ อย่างมีประสิทธิภาพจากจุดแหล่งกำเนิดของวัตถุดิบ ถึงจุดที่มีบริโภคหรือจุดที่มีการใช้งาน เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าหรือผู้บริโภค

โซ่อุปทานและโลจิสติกส์ : มองภาพรวมไม่มองแยกส่วน
ทั้งโซ่คุณค่า โซ่อุปทาน และโลจิสติกส์ จึงมีความ เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ ทุกๆ ส่วนล้วน ส่งผลต่อกันทั้งกระบวนการผลิต หากขาดส่วนหนึ่งส่วนใดไป ย่อมทำให้การผลิตชะงักไป และทำให้สถานะในการอยู่เป็น ส่วนหนึ่งโซ่อุปทานหลุดลอยไป
การนำหลักการทางโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมาใช้ สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือทั้งโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีการโต้ตอบกัน ภายในแบบ Two Way Communication ทั้งโลจิสติกส์และ โซ่อุปทานต่างมาจากส่วนประกอบหลายส่วนรวมกัน แต่ละส่วน จึงต้องร่วมมือกันอย่างบูรณาการ ช่วยนำไปสู่ประสิทธิผลในการดำเนินงานในท้ายที่สุด
สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารระบบ ได้ดียิ่งขึ้น คือการใช้การบริหารการไหลเวียนของระบบการสื่อสารและสารสนเทศมาช่วย แต่ก่อนอื่นต้องชัดเจนในหลักการ แนวคิด และวิธีการจัดการก่อน เมื่อผ่านจุดนั้นมาแล้ว ผู้ประกอบการ จะรู้ว่าควรใช้ระบบสารสนเทศเป็นเครื่องมือช่วยให้มีการจัดการ ได้ดียิ่งขึ้นได้อย่างไร
ดร.กฤษฎ์ กล่าวว่า โลจิสติกส์สำคัญที่ความเร็ว ด้วยกิจกรรมมากมายที่รวมอยู่ในกระบวนการโลจิสติกส์ หากทุก กิจกรรมโลจิสติกส์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ก็จะการสร้างความได้เปรียบแก่ธุรกิจ แต่ความเร็วไม่ใช่สิ่งเดียวของโลจิสติกส์ ยังมีสิ่งสำคัญ รองลงไปอีกหลายประการ เช่น ประสิทธิภาพ ความถูกต้อง และต้นทุนที่ไม่สูง ฯลฯ

แยกแยะและจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมการผลิต
ดร.กฤษฎ์ กล่าวต่อไปว่า ในโซ่อุปทานนั้นผู้บริหาร ต้องพิจารณาเรื่องการบริหารทรัพยากรไปทั้งระบบ กำหนด Material Plan (การบริหารจัดการวัสดุ) การจัดการสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งการจัดการทั้งวัตถุดิบและสินค้าก็ประกอบด้วยงานหลายส่วน
“เราต้องแบ่งว่าอะไรเป็นกิจกรรมหลัก อะไรเป็นกิจกรรมรอง หากเราแยกไม่ออกว่า กิจกรรมใดเป็นกิจกรรมหลัก กิจกรรมอะไรเป็นรองแล้ว เราจะบริหารไม่ยั่งยืน กิจกรรมหลัก อาทิ การทำการขาย, การจัดหาจัดซื้อ, การผลิต, การจัดเก็บ, การส่งมอบ จนถึงการบริการหลังการขาย ส่วนนี้หลายองค์กรมีเป็นหลัก แต่ทำแค่นี้ไม่พอ จะต้องทำอย่างอื่นเพิ่มด้วยก็คือ มีกิจกรรม มีกระบวนการสนับสนุน อาทิ การทำการเงินและบัญชี ระบบสารสนเทศ ระบบการบริหารการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เรื่อง ของการ Training อบรมบริหารองค์ความรู้ขององค์กร ทั้งหมดนี้รวมกันเพิ่มคุณค่า เพิ่มกำไร”
เนื่องจากโลจิสติกส์ครอบคลุมกิจกรรมหลายอย่างด้วยกัน แต่ละกิจกรรมต่างเป็นองค์ประกอบของระบบที่ต้องประสานให้ แต่ละกิจกรรมดำเนินไปอย่างสอดคล้องกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่สามารถแยกให้ส่วนใดส่วนหนึ่งดำเนินไปอย่างแยกส่วน และที่สำคัญการดำเนินกิจกรรมทุกส่วนของโลจิสติกส์ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการทั้งภายในและภายนอกองค์กร อาทิ โครงสร้างภายในองค์กร นโยบายของผู้บริหาร ความสำคัญของกิจกรรมในแต่ละส่วนต่อการผลิตโดยรวมขององค์กร โดยทั่วไป กิจกรรมทางโลจิสติกส์จึงนำมาจัดแบ่งลำดับความสำคัญได้ เป็นสองส่วน คือ กิจกรรมหลัก และกิจกรรมรอง
กิจกรรมหลัก (Key Activities) เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญมากกว่ากิจกรรมรอง เกิดขึ้นเป็นประจำ มีความสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์ ได้แก่ การขนส่ง, การวางแผนการกระจายสินค้าและจำหน่าย, การดำเนินการสั่งซื้อ, การกำหนดการให้บริการ แก่ลูกค้า และการบริหารสินค้าคงคลัง
กิจกรรมรอง (Support Activities) หรืออาจเรียกว่ากิจกรรมเสริม เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นตามโอกาส อาจไม่พบใน บางสายการผลิต ได้แก่ การบรรจุหีบห่อ การจัดการคลังสินค้า การวางแผนการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต การ ประสานงานกับฝ่ายผลิต การมุ่งสู่มาตรฐานสากล

ความบกพร่องที่พบในการบริหารโซ่อุปทาน และสิ่งที่ควรคำนึงถึง
เพราะหัวใจของโซ่อุปทานอยู่ที่การบูรณาการ ภาพรวมประกอบขึ้นจากทุกฝ่าย ส่งผลไปจนถึงลูกค้า และซัพพลายเออร์ เพราะฉะนั้น ผู้บริหารควรรู้จักและเข้าใจการบูรณาการในเรื่องของกระบวนการเชื่อมโยง ผสมผสานกับภายนอก อันหมายถึง ลูกค้าและซัพพลายเออร์เป็นสำคัญ
“เรื่องโซ่อุปทาน ถ้าหากไม่มีการเก็บข้อมูลระหว่างลูกค้า การปฏิบัติงานก็ไม่มีความสอดคล้องซึ่งกันและกัน มีการจัดเก็บสินค้าคงคลังไม่ดี ไม่เกินก็ขาด ไม่พอดี เงื่อนไขโซ่อุปทานที่ดี คือมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ค้า มองในโซ่อุปทานดูทั้งกระบวนการแล้วเราก็จะเห็นว่าส่วนใดสอดคล้องหรือเพิ่มมูลค่า เราได้ก็ส่งเสริมส่วนนั้น ขณะเดียวกัน กิจกรรมหลายๆ อย่าง ถ้าเราไม่วิเคราะห์เรื่องของต้นทุนก็อาจมีหลายตัวที่เป็น Cost Driver เป็นตัวผลักดันไม่ให้เกิดคุณค่า ไปผลักดันให้เกิดต้นทุน บั่นทอนสุขภาพองค์กรด้วยซ้ำไป”
กิจกรรมต่างๆ ในโซ่อุปทานไม่สามารถดำเนินไปลำพัง การนำโซ่อุปทานมาใช้ทำให้องค์กรมีโฟกัส มีความมุ่งมั่นที่ชัดเจนมากขึ้น มีทิศทางเดียวกันมีเป้าหมายเดียวกัน เรียกว่า Functional Goal ไม่ขัดแย้งกันเอง ดังนั้น ความร่วมมือจึงดีขึ้น โซ่อุปทาน ยังทำให้การจัดสรร Asset ที่องค์กรมีอยู่เป็นไปอย่างคุ้มค่า เกิดประสิทธิภาพ ได้สินค้าจำนวนมากที่สุด ทำให้สามารถ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ เรื่องของ Customer Service เป็นไปอย่างเหมาะสม เพราะเมื่อทราบว่าตลาดอยู่ตรงไหน Target เป็นอย่างไร ก็สามารถปรับ ดีไซน์ ออกแบบกระบวนการของเรา ตั้งเป้าหมายได้ว่าจะเลือกใช้สารสนเทศประเภทไหนระดับใด
“การจัดการโซ่อุปทานสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค หมายถึงความสามารถส่งสินค้าให้ผู้บริโภค ได้แก่ผู้ซื้อสินค้าปลีก เกิดศัพท์ใหม่ในการบริหาร Store คือการจัดการ Store เรียกว่า Store Keeping Unit (SKU) จัดการของที่อยู่ใน Store อย่างไรให้สินค้าเกิดกำไรที่พอเหมาะ รวมถึงเรื่องของ Optimize Promotion ทำอย่างไรให้การส่งเสริมการขายได้ผล การจัด หมวดหมู่สินค้า การจัดพื้นที่ว่างให้เป็นประโยชน์สอดคล้องกับ ความต้องการผู้บริโภค หรือ Space Management เมื่อผู้บริโภคบริโภคสินค้าแล้ว ก็มีสิ่งที่ไม่ต้องการตามมา มีของเสีย เรื่องของสิ่งแวดล้อมจึงเกี่ยวข้องกับโซ่อุปทานด้วย ทำอย่างไรให้โซ่อุปทานของธุรกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสภาพแวดล้อม ไม่คำนึงถึงผลกำไรเพียงอย่างเดียว”


ความสำคัญของการจัดการสินค้าคงคลัง
เมื่อผลิตเป็นสินค้าแล้วก็จำเป็นต้องจัดการให้จำนวน สินค้ากระจายออกไป ก่อนที่สินค้าจะถึงมือผู้บริโภคคนสุดท้าย จะมีคลังสินค้าเป็นเสมือนหน่วยกลางระหว่างหน่วยผลิตและ หน่วยบริโภค ในอดีต สินค้าที่เก็บในคลังเป็นผลิตผลทางการเกษตร เก็บเพื่อรอจนกว่าฤดูเก็บเกี่ยวจะมาถึงอีกครั้งหนึ่ง ทำให้สินค้า ไม่มีความเคลื่อนไหว (Dead Stock) ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในหลักการจัดเก็บสินค้าคงคลังยุคปัจจุบันมากนัก สมัยนี้สินค้าควรมีการ หมุนเวียนอยู่เสมอเพื่อความสดใหม่
การหมุนเวียนเข้าออกใช้หลัก FIFO (First In First Out) สินค้าใดที่เข้าคลังสินค้าก่อนก็หมุนเวียนออกไปก่อน เพื่อลดความเสื่อมจากการจัดเก็บเป็นเวลานาน ในซัพพลายเชนการจัดเก็บสินค้ายังเป็นส่วนที่สร้างต้นทุนไม่ว่าจะเป็นที่ซัพพลายเออร์, โรงงานผู้ผลิต, ผู้ค้าปลีก, ผู้ค้าส่ง, การจัดเก็บ และการกระจายสินค้า จึงเป็นศาสตร์สาขาหนึ่งของโลจิสติกส์
สินค้าคงคลัง (Inventory) หมายถึงวัสดุหรือสินค้าต่างๆที่เก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงาน อาจเป็นการดำเนินงานผลิต ดำเนินการขาย หรือดำเนินงานอื่นๆ ส่วนการจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) หมายความถึงการเก็บทรัพยากรไว้ใช้ในปัจจุบัน หรือในอนาคต เพื่อให้การดำเนินการของกิจการดำเนินไปอย่างราบรื่น ผ่านการวางแผนกำหนดปริมาณสินค้าคงคลังที่เหมาะสม
สินค้าคงคลังแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ วัตถุดิบ งานระหว่างผลิตหรืองานระหว่างปฏิบัติการ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการบำรุงรักษาและผลิต และสินค้าสำเร็จรูป
ถ้าหากไม่มีสินค้าคงคลัง การผลิตก็อาจจะไม่ราบรื่น โดยทั่วไปฝ่ายขายค่อนข้างพอใจหากมีสินค้าคงคลังจำนวนมากๆ เพราะให้ความรู้สึกราบรื่น อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของสินค้าคงคลังคือ รักษาความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ทำให้เกิดการประหยัด ต่อขนาด (Economy of Scale) เพราะการสั่งซื้อจำนวนมากๆ เป็นการลดต้นทุน และคลังสินค้าช่วยเก็บสินค้าปริมาณมากนั้น
แต่สินค้าคงคลังก็ถือเป็น Cost โดยตรง การพยากรณ์อุปสงค์เพื่อทราบจำนวนผลิตจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับสินค้าคงคลังและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ในกรณีที่โรงงานมีวัตถุดิบมาเป็นจำนวนมาก หากสินค้าคงคลังมีมากเกินไปก็เสียค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสูงผิดปกติ หากมีน้อยเกินไปก็อาจรบกวนสมดุลตลาด หรือทำให้การผลิตติดขัด
“ช่วงที่อุปทานสูง อย่างเช่นฤดูลำไยล้นตลาด ราคาก็ จะตก รายได้ของเกษตรก็ลดลง แก้ปัญหาอย่างไรดี รัฐบาลก็ เข้ามาช่วย โดยการเรียกผู้ผลิตผลไม้กระป๋องเจ้าใหญ่ๆ มาช่วย รับซื้อไปเป็นพันๆ ตัน จึงต้องมีสินค้าคงคลัง มีกำลังผลิตก็ผลิต ไปเลย แล้วเก็บสต็อกเอาไว้ก่อน ไว้ขายช่วงนอกฤดู การที่เราผลิตมากๆ มองในแง่ดีคือช่วยให้คนงานมี Skill มากขึ้น ประโยชน์ อีกประการหนึ่งคือ เก็บสินค้าสำรองไว้เพื่อป้องกันการขาดแคลน หรือ Out of Stock และเพื่อทำให้ระบบการผลิต การซื้อสินค้า เป็นอิสระ”
“แต่กลไกตลาดที่มีอุปสงค์และอุปทานเป็นตัวบ่งชี้ ในเวลาที่ตลาดมีความต้องการมากคือ มีอุปสงค์สูง ผู้ผลิตก็อาจจะผลิตสินค้าไม่ทัน เกิดวัตถุดิบขาดไปอย่างหนึ่งก็อาจร้ายแรงถึงขั้น สูญเสียฐานลูกค้าไปเลยก็ได้ ในอีกด้านหนึ่งหากอุปสงค์ต่ำมาก สินค้าขายไม่ดี วัตถุดิบล้นไม่ได้ทำการผลิตก็เก็บไว้เฉยๆ ผู้ผลิตก็แบกรับต้นทุนอีก การคาดคะเนอุปสงค์จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้”

คลังสินค้าคือสถานที่รักษาสินค้าคงคลัง ส่วนคลังสินค้า (Warehouse)
คือสถานที่สำหรับวาง จัดเก็บ พัก กระจายสินค้าคงคลัง คลังสินค้ามีชื่อเรียกได้ต่างๆ กัน อาทิ ศูนย์กระจายสินค้า, ศูนย์จำหน่ายสินค้า และโกดัง ฯลฯ คำว่าคลังสินค้าจึงเป็นคำที่มีความหมายรวมๆ ส่วนจะเรียกว่าอะไร ก็ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันของคลังสินค้าแต่ละประเภท คลังสินค้าที่รับ สินค้าเข้ามาทำการคัดแยก แล้วกระจายออกไป เรียกว่า ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) และกระบวนการ ดังกล่าว เรียกว่า Cross Docking
ในขณะที่คลังสินค้าบางแห่งมีฟังก์ชันเพิ่มขึ้นมาคือหลัง รับสินค้าเข้ามาแล้ว ก็เก็บสินค้าไว้และทำหน้าที่จัดสรรสินค้าก่อนส่งมอบตามคำสั่งซื้อ จึงมีขั้นตอนย่อยประกอบด้วย รับสินค้าเข้า จัดเก็บ จัดสินค้าตามใบสั่งซื้อ (Order Picking) อันเป็นขั้นตอน ที่ใช้เวลาและกำลังคนมากที่สุด ตรวจสอบ หีบห่อ และจัดส่ง กล่าวคือ รับหน้าที่ในการจำหน่ายไว้ด้วย จึงเรียกว่าศูนย์จำหน่ายสินค้า การลดเวลาและขั้นตอนในศูนย์จำหน่ายสินค้าทำได้ด้วย การนำคอมพิวเตอร์ช่วยออกใบสั่งซื้อ
อย่างไรก็ตาม ข้อควรคำนึงถึงเกี่ยวกับคลังสินค้ายังรวมถึง ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นเจ้าของสายการผลิต การจำหน่าย และการกระจายสินค้าที่ไม่มีคลังสินค้าเป็นของตัวเอง ไม่ต้องการสร้างคลังสินค้าเองอาจใช้บริการเช่าคลังสินค้าสาธารณะ และประเด็นเกี่ยวกับสถานที่ตั้ง คลังสินค้าควรตั้งในจุดที่ตอบสนอง ผู้ใช้ได้อย่างลงตัว

คลังสินค้าเป็นทั้ง Inbound และ Outbound ของวัตถุดิบและสินค้า
ด้วยเหตุผลที่สินค้าคงคลังมีหลายประเภท Input ของ คลังสินค้าจึงแตกต่างกันไป อาจมีจุดเริ่มต้นจากซัพพลายเออร์นำวัตถุดิบมาป้อนให้คลังสินค้า หรือฝ่ายพัสดุนำ MRO (Maintenance Repair and Operation Supply ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการบำรุงรักษาและสนับสนุนการผลิต) มามอบให้ฝ่ายผลิต ผู้ผลิตสินค้านำสินค้าสำเร็จ ส่งเข้าคลังสินค้าและกระจายไปยัง ผู้บริโภค ฯลฯ วงจรดังกล่าวเป็น Spec ทั่วไปของสินค้าคงคลัง
ความไม่แน่นอนของอุปสงค์ทำให้ผู้ผลิตต้องวางแผนและคำนวณว่า จะจัดสรรปันส่วนการผลิตเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อนำ สินค้าคงคลังมาสร้างคุณค่าโดยการผลิตให้เป็นสินค้า การวางแผนจะทำให้ทราบว่าควรผลิตจำนวนเท่าใดควรจัดเตรียมวัตถุดิบ แต่ละชนิดจำนวนเท่าไร
ในวัตถุดิบที่มีอายุสั้นอย่างผักผลไม้ การวางแผนสั่งวัตถุดิบค่อนข้างจำเป็นมาก เพราะสินค้าไม่มีความเป็นอิสระ มีเงื่อนไข ด้านเวลาเป็นข้อจำกัด หากต้องการให้อิสระอาจนำเข้าห้องเย็น แต่เป็นการเพิ่มต้นทุน การทราบอุปสงค์ทำให้ได้ข้อมูลของวัตถุดิบที่สินค้าคงคลังส่งผลต่อเนื่องต่อระบบการผลิตและจำหน่ายสินค้า
คลังสินค้ามีความสำคัญในแง่ที่เป็นทั้งทางเข้าและทางออกของวัตถุดิบไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูป ดังนั้นก่อนการพยากรณ์ อุปสงค์ จึงจำเป็นต้องเข้าใจการจัดหาวัตถุดิบ/สินค้า (Supply) เข้าใจแนวคิดการจัดการวัตถุดิบและแนวคิดการกระจายสินค้า

แนวโน้มของอุปสงค์แบ่งได้เป็นสี่ประเภทและวิธีการคำนวณอุปสงค์
การทำนายอุปสงค์ใช้ข้อมูลอุปสงค์ในอดีตมาทำนาย แนวโน้มของอุปสงค์มีการเปลี่ยนแปลงไปในสี่แบบด้วยกัน คือ ตามแนวโน้ม (เมื่อแสดงด้วยกราฟให้แกนนอนเป็นเวลา และแกนตั้งเป็นจำนวนอุปสงค์ เส้นกราฟจะเฉียงขึ้นหรือลง) คือความต้องการในสินค้านั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปตามลำดับ ตามฤดูกาล (เส้นกราฟโค้งเป็นระฆังคว่ำ) คือ อุปสงค์เพิ่มสูงเป็นพิเศษช่วงใดช่วงหนึ่งในแต่ละปี อย่างสินค้าเครื่องทำน้ำอุ่นที่ขายดีในฤดูหนาว ตามวัฏจักร (เส้นกราฟเป็นรูปคลื่น) อุปสงค์ขึ้นและลงเป็นวัฏจักรวนเวียนไปตลอดปี อย่างสินค้าชุดนักเรียนที่เป็นที่ต้องการสูงตอนเปิดเทอม ซึ่งปีหนึ่งมีสองครั้ง สุดท้ายคือ แบบ ไร้เงื่อนไข (เส้นกราฟขึ้น-ลง ไม่แน่นอน) ไม่สามารถอธิบายด้วยแนวโน้มแบบใดแบบหนึ่งได้
การทำนายอุปสงค์จึงเกิดขึ้นไม่ได้หากขาดการเก็บข้อมูล โดยทั่วไปการเก็บข้อมูลอุปสงค์เป็นรายเดือนเป็นความถี่ในระดับที่ทุกหน่วยผลิตจะบันทึกเป็นประจำอยู่แล้ว การทำนายอุปสงค์ ทำได้โดยคำนวณข้อมูล ณ จุดใดจุดหนึ่ง โดยอุปสงค์ก่อนและ หลังจากนั้นในการคำนวณด้วย โดยใช้หลักการหาค่าเฉลี่ย
ตัวอย่างเช่น โรงงาน ก. มีการเก็บข้อมูลยอดขายเป็นประจำทุกเดือน ได้เก็บข้อมูลยอดขายมาตลอดปี พ.ศ. 2547 ตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม เมื่อนำอุปสงค์ของเดือนธันวาคม 2546 เดือนมกราคม 2547 และกุมภาพันธ์ 2547 มารวมกันหารสาม ก็จะได้อุปสงค์เฉลี่ยของเดือนมกราคม 2547 หาก ต้องการค่าอุปสงค์เฉลี่ยของเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ก็ต้องคำนวณหาค่าเฉลี่ยคือ นำอุปสงค์เดือนมกราคม 2547 กุมภาพันธ์ 2547 และมีนาคม 2547 รวมกันหารด้วยสาม เมื่อคำนวณเช่นนี้ ไปเรื่อยๆ จนครบทุกเดือน ก็จะได้ค่าแนวโน้มอุปสงค์ของทุกเดือนในปีต่อไป และเมื่อนำจำนวนอุปสงค์ค่าเฉลี่ยความเคลื่อนไหว ที่คำนวณได้มาพล็อตกราฟ ก็จะได้แนวโน้มของอุปสงค์ในอนาคต คือแนวโน้มอุปสงค์ของปี พ.ศ. 2548
ทั้งนี้ การทำนายอุปสงค์ก็อาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่ออุปสงค์ได้ เช่น ทิศทางเศรษฐกิจระดับโลก ระดับประเทศ การทำการตลาดของคู่แข่ง การคำนวณตาม หลักการทำนายอุปสงค์เป็นเครื่องมือที่พอจะให้ภาพกว้างๆ แต่ไม่สามารถยืนยันได้ และการทำนายอุปสงค์ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น คู่กันไปด้วย
เมื่อสามารถทำนายอุปสงค์ได้ รู้หลักการบริหารคลังสินค้าแล้ว ก็ประสานงานกันในสายโซ่อุปทานเพื่อให้ส่งมอบและรับสินค้าตามแผนที่ได้กำหนด หลักของการจัดการสินค้าคงคลังอยู่อย่างหนึ่งคือ ใช้หลัก CPFR C คือ Co-operative เป็นความร่วมมือ P คือ Planning การวางแผนกัน F คือ Forecasting การ คาดคะเน ส่วน R คือ Replenishment คือการเติมสินค้า



RFID เทคโนโลยีน้องใหม่มาแรง
ด้วยข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่เป็นปริมาณมากในโซ่อุปทาน ทำให้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทอย่างมากให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ สารสนเทศเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเสริมสมรรถนะ ช่วยในการจัดการโซ่อุปทาน โดยสารสนเทศส่วนใหญ่ที่มักจะพบว่าธุรกิจนำมาเป็นเครื่องมือช่วยในโซ่อุปทาน มีดังต่อ ไปนี้
EDI (Electronic Data Interchange) หรือการส่งผ่าน ข้อมูลตามมาตรฐานที่ถูกกำหนดไว้ ถูกนำมาใช้ทั้งในกิจการผลิตสินค้า งานบริการ การพาณิชย์ EDI ช่วยส่งผ่านเอกสารในการซื้อขายตั้งแต่ใบสั่งซื้อ ใบสั่งปล่อยวัสดุ ใบกำกับสินค้า ใบแจ้งการขนส่ง ใบรายงานสถานะการขนส่ง ช่วยโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ EDI แบ่งออกเป็นระบบเจ้าของคนเดียว มีประสิทธิภาพการ ควบคุมในระดับดี และระบบโครงข่ายมูลค่าเพิ่ม เป็นบริษัทบุคคลที่ 3 ผู้ให้บริการ EDI
หากองค์กรใดนำ EDI มาใช้ องค์กรนั้นต้องปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ ทั้งการวางระบบและฝึกอบรมพนักงานให้ใช้ EDI ได้อย่างเชี่ยวชาญและถูกต้อง การปรับเปลี่ยนองค์กรรู้จักกันในนาม Reengineering ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนยุ่งยากพอสมควร ในเรื่องของข้อมูลนั้นองค์กรต้องคำนึงและแยกแยะด้วยว่า ข้อมูลใดที่แลกเปลี่ยนและเปิดเผยกันระหว่างโซ่อุปทานได้ ข้อมูลใด เป็นความลับที่ห้ามเผยแพร่สู่ภายนอก เพราะไม่มีองค์กรใดที่ เปิดเผยข้อมูลของตนได้ทั้งหมด 100%
บาร์โค้ด คือ กลุ่มของแท่งที่วางตัวในแนวขนานกัน แต่ละแท่งมีคุณสมบัติต่างกันทั้งความกว้าง ตัวอักษร ตัวเลข บาร์โค้ดต้องใช้ร่วมกับอุปกรณ์ในการอ่าน (Scanner) ซึ่งทำหน้าที่ส่งรังสีจากข้อมูลนั้นไปยังคอมพิวเตอร์ มีประโยชน์สำคัญทำให้เกิด การขยายขอบข่ายระบบสารสนเทศในองค์กรมาเชื่อมโยงกับ EDI ได้ อย่างไรก็ตามบาร์โค้ดเป็นเทคโนโลยีที่กำลังจะล้าสมัยในไม่ช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา
“RFID หรือ Radio Frequency Identification เป็นเทคโนโลยีที่กำลังจะมาแทนบาร์โค้ด เมื่อต้นปี Wal-Mart เชนค้าปลีกเจ้าใหญ่ในสหรัฐฯ บังคับให้ผู้ส่งมอบสินค้านำ RFID หรือการรายงานตัวโดยใช้คลื่นวิทยุ มาใช้ RFID ช่วยลดปัญหาการรักษาระดับสินค้าคงคลัง จะเป็นชิปตัวเล็กๆ ติดอยู่กับสินค้า สามารถส่งข้อมูลได้ เริ่มตั้งแต่บอกว่าสินค้านั้นออกจากโรงงานผลิตแล้ว และกำลังจะไปขึ้นรถ กำลังอยู่ในคลังสินค้า กำลังวางจำหน่าย อยู่บน Shelf ไปจนถึงกำลังซื้อขาย จากนั้นพนักงานก็จะสแกนเครื่องให้ส่งสัญญาณปิดวงจรในชิป และก็จะไม่สามารถใช้งาน ได้อีก คาดกันว่าตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป ความชัดเจนของการใช้ RFID ในอเมริกา น่าจะมีมากขึ้น และจะทยอยใช้กับสินค้าจนครบทุกไลน์ และขยายไปยังค้าส่งและค้าปลีกเชนอื่นด้วย”
พาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ (E-Commerce) เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการค้ายุคใหม่อย่างแท้จริง สร้างช่องทางในการค้าที่ลดข้อจำกัดต่างๆลงไป ทั้งเวลา สถานที่ และระยะทาง พาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์สามารถตอบสนองได้ทั้งการค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ในการจัดซื้อ จัดหา การสั่งผลิต การขนส่ง ไม่ว่าร้านค้าสั่งซื้อสินค้าจากผู้จัดจำหน่าย ผู้จัดจำหน่ายสั่งซื้อ วัตถุดิบจากผู้ผลิต และผู้ผลิตซื้อวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตจากซัพพลายเออร์ และระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C)
ซอฟต์แวร์และระบบต่างๆ ปัจจุบันซอฟท์แวร์ที่มีหน้าที่ต่างๆ อันช่วยในการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานนิยมใช้กันอย่าง แพร่หลาย มีชื่อเรียกตามการใช้งาน เช่น ERP (Enterprise Resource Planning) เป็นระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร ที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมสูงสุด, DRP (Distribution Requirement Planning) หรือระบบการวางแผนความต้องการกระจายสินค้า, WMS (Warehouse Management Systems) หรือระบบการบริหารคลังสินค้า
นอกจากเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว ทักษะบุคลากรสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน การทำงานร่วมกันเป็นทีม ปฏิบัติงานกัน อย่างสอดคล้องกันทั้งระบบ ไม่ควรละเลยการฝึกอบรมบุคลากร ให้มีทักษะการปฏิบัติงานและทัศนคติที่ดีต่อการทำงานด้วย ช่วยลดโอกาสในการเกิดความผิดพลาดจาก Human Error สร้างประโยชน์ให้องค์กรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ในตอนท้าย ดร.กฤษฎ์ ยังแนะนำผู้ประกอบธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และผู้กระจายสินค้าว่าไม่ควรมองข้ามประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันวัสดุที่ใช้แล้วทิ้งกำลังได้รับความนิยม ลดลง วัสดุที่ผลิตจากการรีไซเคิล หรือนำกลับมาใช้ได้ใหม่เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น
แนวโน้มการประกอบกิจกรรมโลจิสติกส์ทั่วโลกต่างมุ่งไปในแนวทาง Clean Logistics มากขึ้น มีการจัดสรรและวางแผนให้ผู้ประกอบการร่วมกันใช้อุปกรณ์ช่วยในการขนส่งร่วมกัน ประสานงาน วางแผนและร่วมมือกันเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดการสูญเปล่าในการขนส่ง ใช้พื้นที่การขนส่งและพลังงานอย่างคุ้มค่า ในส่วนของยานพาหนะ รถบรรทุกที่ขนส่งตามหลัก Clean Logistics คือ รถที่ลดการปล่อยควันพิษอย่าง CO และ NoX
นอกจากนี้ การจัดให้สภาพแวดล้อมในสถานประกอบการและสภาพแวดล้อมขณะปฏิบัติงานถูกสุขลักษณะ จัดสรรบุคลากรให้เข้ากับงานอย่างเหมาะสม นอกจากมาตรฐานในการปฏิบัติงานแล้วจึงควรทำให้คนกับระบบเข้ากันได้ดี เพราะเป้าหมายของการประกอบธุรกิจที่ดีย่อมไม่มุ่งสู่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว


ที่มา : การสัมมนา “การจัดการโลจิสติกส์เชิงโซ่อุปทานและการบริหารสินค้าคงคลัง” โดย ส่วนเชื่อมโยงการผลิต สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, กันยายน 2547













ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น